สารพันปัญหา
1. คำถาม : เปิดรับสมัครสอบทางอินเทอร์เน็ต ในวัน เวลาใด
คำตอบ : สามารถสมัครผ่านอินเทอร์เน็ตได้เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น  ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2564 (เวลา 8.30 น.) ถึงวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2564 (เวลา 16.30 น.) ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ ผ่านเว็บไซด์ https://coj.thaijobjob.com โดยให้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดในคู่มือการสมัครทดสอบความรู้ฯ พ.ศ. 2563 (สนามจิ๋ว)

             เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการลงทะเบียนสมัคร  ไม่ควรลงทะเบียนสมัครในวันใกล้ปิดรับสมัคร เนื่องจากระบบการรับสมัครทางอินเทอร์เน็ตจะปิดดำเนินการทันทีในเวลา 16.30 น. ของวันสุดท้ายของการรับสมัคร (ยึดตามเวลา Server ของระบบรับสมัคร ฯ เป็นหลัก)
            ผู้สมัครต้องกรอกข้อมูลในใบสมัครและลงทะเบียนสมัครก่อนวันและเวลาดังกล่าว (ผู้สมัครที่ชำระเงินค่าธรรมเนียมสมัครแล้วแต่ไม่ลงทะเบียนสมัครก่อนวันเวลาดังกล่าวถือว่าการสมัครไม่สมบูรณ์และไม่สามารถสมัครได้)
2. คำถาม :  เปิดรับชำระเงินถึงเมื่อไร
คำตอบ :  ตั้งแต่วันวันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2564 (เวลา 8.30 น.) ถึงวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2564 (ต้องชำระเงินก่อนเวลา 16.30 น.ของวันสุดท้ายในการับสมัคร)  
การชำระเงินจะต้องนำใบแจ้งการชำระเงินในระบบ "Teller Payment"  ชำระได้ 3 ช่องทาง คือ
1.ที่เคาน์เตอร์ ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา
2. ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย
3. Krungthai NEXT
โดยการรับสมัครจะมีผลสมบูรณ์เมื่อชำระค่าธรรมเนียมการสมัครและกรอกรายละเอียดในใบสมัครครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

*** ข้อควรระวัง *** 
 แม้ว่าการชำระเงินในวันสุดท้ายจะสามารถทำได้ภายในเวลา 16.30 น. แต่ผู้สมัครต้องคำนึงถึงเวลาที่ต้องใช้สำหรับกรอกข้อมูลในใบสมัครซึ่งเป็นขั้นตอนต่อจากการชำระเงินด้วย หากถึงเวลา 16.30 น. ของสุดท้ายของการรับสมัครผู้ที่อยู่ระหว่าง / ผู้ที่ยังไม่ได้กรอกข้อมูลในใบสมัครจะไม่สามารถดำเนินการต่อได้อีก

3. คำถาม : จำนวนเงินค่าธรรมเนียมในการสมัคร
คำตอบ : กรณีที่ 1 : ท่านขอใบสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาด้วยตนเองหรือได้ขอเอกสารใบสามัญสมาชิกไปแล้ว ค่าธรรมเนียมในการสมัคร จำนวน 1,030 บาท ประกอบด้วย ค่าสมัคร 1,000 บาท และค่าธรรมเนียมธนาคาร รวมค่าบริการทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 30 บาท 
กรณีที่ 2 : ท่านขอใบสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาผ่านระบบรับรอง Online ค่าธรรมเนียมในการสมัคร จำนวน 1,130 บาท ประกอบด้วย ค่าสมัคร 1,100 บาท และค่าธรรมเนียมธนาคาร รวมค่าบริการทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 30 บาท

4. คำถาม : ต้องจองวันเวลาในการสมัครหรือไม่
คำตอบ :  ไม่ต้องจองวันเวลาในการสมัคร 
5. คำถาม : เมื่อชำระเงินผ่านธนาคารแล้วจำเป็นต้องกรอกใบสมัครและลงทะเบียนสมัครในวันเดียวกันหรือไม่
คำตอบ : ไม่จำเป็นต้องกรอกใบสมัครในวันเดียวกัน แต่ผู้สมัครต้องพึงระวังว่าเมื่อชำระค่าธรรมเนียมการสมัครแล้วยังไม่ถือว่าขั้นตอนการสมัครเสร็จสมบูรณ์  เพราะการรับสมัครจะมีผลสมบูรณ์เมื่อชำระค่าธรรมเนียมการสมัครและกรอกรายละเอียดในใบสมัครครบถ้วนสมบูรณ์แล้วเท่านั้น
6. คำถาม : สำนัก ก.ต. ได้กำหนดจำนวนผู้สมัครในแต่ละวันว่าจะรับสมัครได้ไม่เกินเท่าใดหรือไม่
คำตอบ : ไม่จำกัดจำนวน
7. คำถาม : การเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนก่อนการกรอกข้อมูลในใบสมัครทางอินเตอร์เน็ต คืออะไร 
คำตอบ : ก่อนการกรอกข้อมูลในระบบสมัครทางอินเทอร์เน็ต  ผู้สมัครจะต้องเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนก่อนการกรอกข้อมูล  (ผู้สมัครต้องดำเนินการติดต่อขอเอกสารไว้ก่อนล่วงหน้า  เอกสารที่จะต้องเตรียมไว้เพื่อกรอกรายละเอียดข้อมูลให้ดูได้จากคู่มือการรับสมัคร ทดสอบความรู้ฯ พ.ศ.2563) ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันตนเองว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน ณ วันลงทะเบียนสมัคร 

8. คำถาม : พิมพ์ใบสมัครตัวจริงได้ที่ใดและเมื่อใด
คำตอบ : เมื่อผู้สมัครพิมพ์เอกสารการชำระเงินและนำไปชำระเงินที่ธนาคารกรุงไทยแล้ว และเมื่อกรอกรายละเอียดในใบสมัครครบถ้วนแล้ว ผู้สมัครสามารถสั่งพิมพ์ใบสมัครเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานการสมัครได้  โดยเลือกที่ปุ่ม  "พิมพ์ใบสมัครสอบ"
9. คำถาม : คำว่า "ผู้สมัครเก่า" และ "ผู้สมัครใหม่" พิจารณาโดยใช้หลักเกณฑ์ใด
คำตอบ : "ผู้สมัครเก่า" หมายถึง ผู้ที่เคยสมัครสอบสำหรับสนามใดสนามหนึ่งมาก่อน และในครั้งนี้ ก็สมัครสอบสนามนั้น  เช่น เคยสมัครสอบสนามใหญ่มาแล้ว และในครั้งนี้ก็สมัครสอบสนามใหญ่ เป็นต้น

              "ผู้สมัครใหม่" หมายถึง ผู้ที่เคยสมัครสอบสำหรับสนามใดสนามหนึ่งมาก่อน และในครั้งนี้ ไม่ได้สมัครสอบสนามนั้น  เช่น เคยสมัครสอบสนามเล็กมาแล้ว แต่ในครั้งนี้สมัครสอบสนามใหญ่ย่อมถือว่าเป็นผู้สมัครใหม่ของสนามใหญ่ครั้งนี้   
            หรืออีกกรณีหนึ่งคือผู้สมัครที่ไม่เคยสมัครสอบสนามใด ๆ มาก่อนเลย เป็นต้น  

10. คำถาม :  ใช้สิทธิประกอบวิชาชีพหลายสิทธิรวมกันได้หรือไม่
คำตอบ : ได้ แต่ถ้าสิทธิใดสิทธิหนึ่งที่ใช้รวมนั้นเป็นทนายความ แม้ว่าจะเป็นทนายความมาเป็นเวลาเท่าใดก็ตามจำนวนคดีที่ได้ว่าความต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์  คือ สนามใหญ่  20 คดี / สนามเล็กและสนามจิ๋ว 10 คดี  
11. คำถาม : หนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพมีอายุการใช้งานหรือไม่
คำตอบ : วิชาชีพทั่วไปสำหรับผู้สมัครใหม่ หนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพทั่วไป (ที่ไม่ใช่ใบเก็บคดีทนายความ) ต้องออกให้หรือผู้บังคับบัญชา ลงนามแล้วไม่เกิน 6 เดือนนับถึงวันสมัคร

     สำหรับผู้สมัครเก่า 
แต่ละสนาม ถ้าไม่ได้สมัครสนามใด ๆ มาเกิน 5 ปี ต้องใช้ใบใหม่ที่อายุไม่เกิน 6 เดือน   แต่ถ้าผู้สมัครเก่าที่สมัครมาต่อเนื่องก็ให้ใช้ใบเดิมได้

     วิชาชีพทนายความ หนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพทนายความ แบบ 15 ท้ายระเบียบเดิม (ใบเก็บคดี) โดยหลักแล้วไม่มีอายุการใช้งาน แต่ ต้องมีข้อความชัดเจน ไม่เก่าจนเกินไปและไม่มีการแก้ไขข้อความ แต่หากผู้สมัครรายนั้นยังเป็นทนายความและสามารถเก็บคดีใหม่ได้ แนะนำให้ใช้ใบเก็บคดีใหม่ สำหรับกรณีที่ใบเก็บคดีต้นฉบับสูญหายและผู้สมัครไม่สามารถเก็บคดีได้อีกแล้ว ให้ใช้สำเนาใบเก็บคดีดังกล่าวได้ โดยผู้สมัครต้องลงนามรับรองสำเนา ซึ่งสำเนาแต่ละแผ่นนั้นต้องมีข้อความที่เห็นได้ชัดเจน ไม่ขาดหรือแก้ไข


12. คำถาม : ใบรับรองแพทย์ตามแบบที่ ก.ต. กำหนดที่แพทย์ลงนามไว้แล้ว ซึ่งใช้ในการสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาในครั้งก่อน  สามารถนำมาใช้ในการสมัครในครั้งนี้ได้หรือไม่
คำตอบ :  ต้องดูที่วันที่แพทย์ตรวจและลงนามเป็นสำคัญ  เพราะต้องใช้ใบรับรองแพทย์ตามแบบที่กำหนดและต้องออกให้ ไม่เกิน 3 เดือน นับถึงวันลงทะเบียนสมัคร
13. คำถาม : เกี่ยวกับใบรับรองแพทย์
คำตอบ : 
1) ใช้ใบรับรองแพทย์ที่ไม่ได้ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ที่กำหนดไว้ได้หรือไม่
           - ไม่ได้ เพราะต้องใช้ใบรับรองแพทย์ตามแบบที่ ก.ต. กำหนด
       
 2) นำใบรับรองแพทย์ไปตรวจกับแพทย์ที่คลินิกได้หรือไม่
            - ไม่ได้ เพราะต้องตรวจกับแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนเท่านั้น
        
3) ใบรับรองแพทย์จะต้องประทับตราโรงพยาบาลที่ไปตรวจร่างกายด้วยหรือไม่
            - ใบรับรองแพทย์ต้องให้แพทย์ผู้ตรวจร่างกายซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนลงนามเป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องประทับตราโรงพยาบาล แต่ต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลที่ระบุไว้จริง
14. คำถาม : ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบเมื่อใด
คำตอบ : หลังจากที่ปิดรับสมัครแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ   ของผู้สมัคร ซึ่งเมื่อดำเนินการดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วสำนัก ก.ต. จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ วันเวลา สถานที่สอบ ให้ทราบ ทางเว็บไซต์ http://www.ojc.coj.go.th หรือ https://ojc.thai่jobjob.com  และให้ผู้สมัครปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปหลังจากมีการประกาศรายชื่อแล้ว เช่น พิมพ์บัตรประจำตัวสอบ  และตรวจสอบแผนผังที่นั่งสอบ  เป็นต้น
15. คำถาม : เมื่อผู้สมัครชำระเงินค่าธรรมเนียมสอบที่ธนาคารแล้วสามารถกรอกใบสมัครได้ทันทีหรือไม่ 
คำตอบ : สามารถกรอกสมัครได้ทันที โดยไม่ต้องรอเวลา
16. คำถาม : ผู้สมัครที่อยู่ระหว่างเก็บระยะเวลาใช้สิทธิประกอบวิชาชีพ ถ้าเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ จะนับเป็นการเดินทางออกจากประเทศไทยที่ต้องแจ้งในใบสมัครหรือไม่
คำตอบ : ไม่ต้องแจ้งในใบสมัคร
17. คำถาม : "ผู้สมัครใหม่" ที่ใช้สิทธิประกอบวิชาชีพเป็น "ทนายความ" ต้องใช้หนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพและใบเก็บคดี อย่างไร
คำตอบ ::   "ผู้สมัครใหม่" ที่ใช้สิทธิประกอบวิชาชีพเป็น "ทนายความ" ต้องใช้หนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพและใบเก็บคดี ดังนี้

   1. หนังสือที่สภาทนายความออกให้เพื่อรับรองการเป็นทนายความ สำหรับผู้สมัครใหม่ที่ใช้สิทธิประกอบวิชาชีพเป็นทนายความต้องใช้หนังสือที่สภาทนายความออกให้เพื่อรับรองการเป็นทนายความ ซึ่งต้องออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ไม่ว่าจะเป็นชนิด 2 ปี หรือตลอดชีพ และต้องมีเอกสารดังกล่าวก่อนดำเนินการสมัคร

   2. หนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพซึ่งเป็นทนายความ แบบ 15 (ท้ายระเบียบเดิม) หรือใบเก็บคดี  สำหรับผู้สมัครใหม่ที่ใช้สิทธิประกอบวิชาชีพเป็นทนายความ สามารถดาวน์โหลดเอกสารดังกล่าวได้จากเว็บไซต์ https://ojc.thaijobjob.com แล้วกรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน  หรือกรณีผู้สมัครใหม่อาจมีสำเนาของเอกสารดังกล่าวซึ่งกรอกรายละเอียดครบถ้วนแล้ว ก็สามารถใช้สำเนาของเอกสารดังกล่าวสำหรับการสมัครครั้งนี้ได้ ทั้งนี้แม้เอกสารดังกล่าวจะกรอกข้อมูลแล้วและเก็บไว้นานแล้วก็สามารถใช้สำหรับการสมัครในครั้งนี้ได้ แต่ต้องมีข้อความที่เห็นได้ชัดเจน ไม่ขาดหรือแก้ไข  หากผู้สมัครรายนั้นยังเป็นทนายความและสามารถเก็บคดีใหม่ได้ แนะนำให้ใช้ใบเก็บคดีใหม่

18. คำถาม : "ผู้สมัครเก่าที่มีสิทธิสอบ" ที่ใช้สิทธิประกอบวิชาชีพเป็น "ทนายความ" ต้องใช้หนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพและใบเก็บคดี อย่างไร
คำตอบ ::  "ผู้สมัครเก่าที่มีสิทธิสอบ" ที่ใช้สิทธิประกอบวิชาชีพเป็น "ทนายความ" ต้องใช้หนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพและใบเก็บคดี ดังนี้
                 1. ไม่ต้องใช้หนังสือที่สภาทนายความออกให้เพื่อรับรองการเป็นทนายความ  สำหรับผู้สมัครเก่าที่มีสิทธิสอบ
                  2. หนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพซึ่งเป็นทนายความ แบบ 15 (ท้ายระเบียบเดิม) หรือใบเก็บคดี  ใช้ใบเก็บคดีเดิมที่มีอยู่ได้